การประชุมผู้นำรัฐสมาชิกอาเซียน เรียกเป็นทางการว่า "ที่ประชุมสุดยอดอาเซียน" ภาษาอังกฤษใช้คำว่า "ASEAN SUMMIT" จัดขึ้นโดย สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Association of Southeast Asian Nations) หรือ อาเซียน (ASEAN) ถูกตั้งขึ้นเพื่อสร้างสันติภาพในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อันนำมาซึ่งเสถียรภาพทางการเมือง และความเจริญก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม ซึ่งการประชุมอาเซียนนั้น จะมีผู้นำแต่ละประเทศเข้าร่วมประชุม เพื่อหารือเกี่ยวกับการพัฒนาความเจริญก้าวหน้าของกลุ่มประเทศอาเซียน คำว่า "SUMMIT" เป็นภาษาอังกฤษ หมายถึง จุดปลายสุดของยอดเขา ความสำเร็จสูงสุดของกิจการหรือกิจกรรมใดๆ แต่ในทางรัฐศาสตร์ แต่คำว่า "SUMMIT" หมายถึง การประชุมระดับสูงสุดของผู้นำรัฐบาล หรือผู้นำสูงสุดขององค์กรใดๆ ที่จัดการประชุม
ประวัติความเป็นมา
สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ อาเซียน ก่อตั้งปฏิญญากรุงเทพมหานคร (Bangkok Declaration) ขึ้น เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม พ.ศ.2510 ณ วังสราญรมย์ ในกระทรวงการต่างประเทศ กรุงเทพมหานคร ซึ่งลงนามโดยรัฐมนตรีจาก 5 ประเทศ ได้แก่ ... นายอาดัม มาลิก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ สาธารณรัฐอินโดนีเซีย ตุน อับดุล ราชัก บิน ฮุสเซน รองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาการแห่งชาติ ประเทศมาเลเซีย นายนาชิโช รามอส รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ นายเอส ราชารัตนัม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ สาธารณรัฐสิงคโปร์ พันเอก (พิเศษ) ดร.ถนัด คอมันตร์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ประเทศไทย การก่อตั้งดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อ ส่งเสริมความเข้าใจอันดีต่อกันระหว่างประเทศในภูมิภาค ธํารงไว้ซึ่งสันติภาพ เสถียรภาพ และความมั่นคงปลอดภัยทางการเมือง สร้างสรรคค์ความเจริญเติบโตทางด้านเศรษฐกิจ การพัฒนาทางสังคมและวัฒนธรรม การกินดีอยู่ดี บนพื้นฐานของความเสมอภาคและผลประโยชน์ร่วมกัน ต่อมากลุ่มอาเซียนก็มีสมาชิกเพิ่มขึ้นอีก โดย บูรไนดารุสซาลาม ได้เข้าเป็นสมาชิกในลําดับที่ 6 เมื่อวันที่ 7 มกราคม พ.ศ.2527 สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม เข้าเป็นสมาชิกลําดับที่ 7 เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ.2538 และสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวและสหภาพพม่า เข้าเป็นสมาชิกพร้อมกัน เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ.2540 ต่อมา กัมพูชา ก็เข้าเป็นประเทศสมาชิกเมื่อวันที่ 30 เมษายน พ.ศ.2542 ทําให้ปัจจุบันอาเซียนมีสมาชิกรวมทั้งหมด 10 ประเทศ สถานการณ์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้เปลี่ยนผ่านจากสภาวะแห่งความตึงเครียด และการเผชิญหน้า มาสู่สภาวะที่มีเสถียรภาพ ความมั่นคงและความร่วมมือกันอย่างใกล้ชิด จนกลายเป็นภูมิภาคที่มีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว และเป็นตัวอย่างของการรวมตัวของกลุ่มประเทศที่มีบทบาท และพลังต่อรองในเวทีการเมืองและเศรษฐกิจระหว่างประเทศ ทําให้มีประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เข้าร่วมเป็นสมาชิกเพิ่มขึ้น และมีหลายประเทศในโลกสนใจที่จะเสริมสร้างความสัมพันธ์และกระชับความร่วมมือกับอาเซียนในฐานะคู่เจรจา (Dialogue Partner)
ซึ่งในปัจจุบันอาเซียนมีคู่เจรจา 9 ประเทศ ได้แก่ ออสเตรเลีย, แคนาดา, ญี่ปุ่น, นิวซีแลนด์, สหรัฐอเมริกา, สาธารณรัฐเกาหลี, อินเดีย, สาธารณรัฐประชาชนจีน, รัสเซีย และ 1 กลุ่มประเทศ คือ สหภาพยุโรป รวมทั้ง 1 องค์การระหว่างประเทศ คือ โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (United Nations Development Programme: UNDP) โดยอาเซียนกับคู่เจรจาเหล่านี้จะมีการปรึกษาหารือกันอย่างสม่ำเสมอ ทั้งในลักษณะการประชุมระดับเจ้าหน้าที่และการประชุมระดับรัฐมนตรี ความก้าวหน้าของอาเซียนดังกล่าว มีปัจจัยที่สําคัญจากความไว้วางใจซึ่งกันและกันระหว่างประเทศสมาชิก อันก่อให้เกิดบรรยากาศที่สร้างสรรค์ต่อความร่วมมือ และความเข้าใจอันดีต่อกัน โดยความร่วมมือในอาเซียน ที่สําคัญๆ ได้แก่...
ความร่วมมือทางการเมือง
อาเซียนตระหนักดีว่า ภูมิภาคที่มีสันติภาพ เสถียรภาพ ความมั่นคง และความเป็นกลางจะเป็นพื้นฐานสําคัญ ที่ส่งเสริมการพัฒนาประเทศให้เจริญรุดหน้า จึงได้ร่วมกันสร้างประชาคมอาเซียนให้เป็นที่ยอมรับของนานาประเทศ และสร้างเสริมความเข้าใจอันดีต่อกันในระหว่างประเทศสมาชิก ผลงานที่สําคัญที่ได้รับการยอมรับจากนานาประเทศ คือ สนธิสัญญาไมตรีและความร่วมมือกันในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Treaty of Amity and Cooperation in Southeast Asia: TAC) การประกาศให้ภูมิภาคอาเซียนเป็นเขตแห่งสันติภาพ เสรีภาพ และความเป็นกลาง (Zone of Peace, Freedom and Neutrality: ZOPFAN ) การก่อตั้งการประชุมอาเซียนว่าด้วยความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก (ASEAN Regional Forum: ARF) และ สนธิสัญญาเขตปลอดอาวุธนิวเคลียร์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Southeast Asia Nuclear Weapon-Free Zone Treaty: SEANWFZ)
ความร่วมมือทางเศรษฐกิจ
ปรากฏการณ์ของการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจ ที่เกิดขึ้นในภูมิภาคต่างๆ ของโลก และการแข่งขันทางการค่าที่เพิ่มมากขึ้น เป็นปัจจัยสําคัญที่ผลักดันให้อาเซียนตระหนักถึงความจําเป็นที่จะต่องรวมตัวกันให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น เพื่อปรับแนวการดําเนินนโยบายของตนให้สอดคล้อง และเหมาะสมกับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ในปี พ.ศ.2535 อาเซียนจึงได้ตกลงจัดตั้งเขตการค่าเสรีอาเซียน (ASEAN Free Trade Area: AFTA) ขึ้น เพื่อที่จะส่งเสริมการค้าระหว่างกัน โดยการลดภาษีศุลกากรให้แก่สินค้าส่งออกของกันและกัน และดึงดูดการลงทุนจากภายนอกภูมิภาคให้เข้ามาลงทุนในภูมิภาคมากยิ่งขึ้น เขตการค่าเสรีอาเซียนนี้จะบรรลุผลสมบูรณ์สําหรับสมาชิก 6 ประเทศแรกใน พ.ศ.2546 ตามด้วยเวียดนาม ในปี พ.ศ.2549 ลาวและพม่า ใน พ.ศ.2551 และกัมพูชาใน พ.ศ.2553 นอกจากนี้ อาเซียนยังได้มีมาตรการต่างๆ ในการส่งเสริมการค้าการลงทุน และความร่วมมือกันในด้านอุตสาหกรรม การเงินและการธนาคาร และการบริการระหว่างกัน ที่สําคัญ ได้แก่ โครงการความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมอาเซียน (ASEAN Industrial Cooperation: AICO ) และ เขตการลงทุนอาเซียน (ASEAN Investment Area: AIA ) เป็นต้น นอกจากนี้ เพื่อให้อาเซียนเติมโต มีความเจริญก้าวหน้าและความมั่นคงทางด้านเศรษฐกิจ และมีความมั่งคั่งร่วมกัน อาเซียนจึงได้มีข้อริเริ่มเพื่อการรวมตัวของอาเซียน (Initiative for ASEAN Integration: IAI ) ขึ้น เพื่อที่จะลดช่องว่างทางการพัฒนาระหว่างสมาชิกเก่าและใหม่ของอาเซียนด้วย
ความร่วมมือเฉพาะด้าน
นอกจากความร่วมมือทางการเมือง และเศรษฐกิจแล้ว อาเซียนยังให้ความสําคัญต่อความร่วมมือเฉพาะด้าน (Functional Cooperation) ระหว่างประเทศสมาชิก ได้แก่ ความร่วมมือในด้านการพัฒนาสังคม การศึกษา สาธารณสุข สิ่งแวดล้อม วัฒนธรรมและสนเทศ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และการต่อต้านยาเสพติด ซึ่งล้วนเป็นพื้นฐานที่สําคัญในการพัฒนาประเทศ โครงการความร่วมมือเฉพาะด้านระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนนี้มีจํานวนมาก และครอบคลุมในทุกด้าน และมีเป้าหมายเพื่อให้ประชาคมอาเซียนมี "ความไพบูลย์ร่วมกัน โดยการพัฒนาคน ความสามารถ ในการแข่งขันทางเทคโนโลยี และความเป็นปึกแผ่นทางสังคม" โครงการความร่วมมือที่สําคัญในด้านนี้ ได้แก่ การจัดตั้งเครือข่ายมหาวิทยาลัยอาเซียน การประกาศให้อาเซียนเป็นเขตปลอดยาเสพติด ในปี พ.ศ.2558 แผนการดําเนินงานตามแผนปฏิบัติการอาเซียนเพื่อต่อต้านอาชญากรรมข้ามชาติ และการเชื่อมโยงเส้นทางคมนาคมขนส่งทั่วทั้งภูมิภาค เป็นต้น นอกจากนี้ อาเซียนยังได้จัดตั้งมูลนิธิอาเซียน เพื่อเสริมสร้างจิตสํานึกในความเป็นอาเซียน และพัฒนาทรัพยากรบุคคล โดยเฉพาะอย่างยิ่งเยาวชน
วัตถุประสงค์
ปฏิญญาอาเซียน (The ASEAN Declaration) ได้ระบุว่า เป้าหมายและจุดประสงค์ของอาเซียน คือ
1. เร่งรัดการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ความก้าวหน้าทางสังคม และการพัฒนาวัฒนธรรมในภูมิภาค
2. ส่งเสริมสันติภาพและเสถียรภาพในภูมิภาค โดยการเคารพหลักความยุติธรรมและ หลักนิติธรรมในการดำเนินความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในภูมิภาค ตลอดจนยึดมั่นในหลักการแห่ง กฎบัตรสหประชาชาติ
ในโอกาสครบรอบ 30 ปีของการก่อตั้งอาเซียน ใน พ.ศ.2540 (ค.ศ.1997) ผู้นำของประเทศสมาชิกอาเซียนได้รับรอง "วิสัยทัศน์อาเซียน 2020" (ASEAN Vision 2020) โดยเห็นพ้องกันในวิสัยทัศน์ร่วมของอาเซียนที่จะเป็นวงสมานฉันท์ในภูมิภาคตะวันออกเฉียงใต้ ต้องการมีปฏิสัมพันธ์กับภายนอก การใช้ชีวิตในสภาพที่มีสันติภาพ เสถียรภาพ และความเจริญรุ่งเรือง ผูกมัดกันเป็นหุ้นส่วนในการพัฒนา ที่มีพลวัตและในประชาคมที่มีความเอื้ออาทรระหว่างกัน
พ.ศ.2546 ผู้นำอาเซียนได้เห็นพ้องกันที่จะจัดตั้งประชาคมอาเซียน ที่ประกอบด้วย 3 เสาหลัก อันได้แก่ ประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน (ASEAN Political-Security Community–ASC) ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community-AEC) และประชาคมสังคม-วัฒนธรรมอาเซียน (ASEAN Socio-Cultural Community-ASCC) ภายใน พ.ศ.2563 ต่อมา ในการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 12 ที่เมืองเซบู ฟิลิปปินส์ ผู้นำประเทศอาเซียนตกลงที่จะเร่งรัดกระบวนการสร้างประชาคมอาเซียนให้แล้วเสร็จภายใน พ.ศ.2558
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น